Toyota Corolla Altis 1.6E CNG |
รูปลักษณ์ภายนอก
ยังคงเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีแต่ตัวอักษร 1.6E CNG เท่านั้น ที่จะบอกความแตกต่างระหว่างรุ่นธรรมดา กับรุ่น CNG
ดีไซน์ภายใน
ตกแต่งด้วยโทนสีเบจดูเรียบง่าย ที่แตกต่างจากรุ่นธรรมดา ก็คือไฟแสดงสถานะการใช้แก็ส และปริมาณแก็ส โดยมีปุ่มกดเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ ระหว่างแก็สกับน้ำมัน อยู่ทางขวามือตำแหน่งประมาณ 4-5 นาฬิกา ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างจาก Altis รุ่นเบนซินมากนัก
เครื่องยนต์
เป็นเครื่องยนต์ที่เรียกว่า Bi-Fuel Type 1 ZR-FE (CNG) 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว ให้แรงม้าสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 154 นิวตัน/เมตร ที่ 5,200 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติแปรผัน 7 สปีด CVT (Super CVT-7) ถังแก็ส NGV จุแก็สได้ 75 ลิตร หรือ 15 กิโลกรัม ผลิตจากโครเมียมโมลีดีนั่มสตีล และท่อส่งแก็สผลิตจากแสตนเลส การมีถังแก็สนี้ต้องแลกกับพื้นที่ห้องสัมภาระด้านหลัง 2 ใน 3 ส่วน ทำให้จุสัมภาระได้น้อยลง และด้วยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากถังแก็สส่งผลให้สมรรถนะอัตราเร่ง และความเร็วจะช้ากว่า Altis รุ่นธรรมดาอยู่ระดับหนึ่ง แต่การส่งผ่านกำลังก็ยังเป็นไปอย่างราบรื่น การเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากน้ำมันไปเป็นแก็สก็ทำได้อย่างราบรื่นไม่มีกระตุก แทบไม่รู้สึกถ้าไม่มองที่หน้าปัดก็เกือบจะไม่รู้ว่ารถเปลี่ยนระบบจากน้ำมันเป็นแก็สแล้ว (รถใหม่ยังใช้งานได้ดีก็เป็นเรื่องปกติ แต่ใช้งานไปนานๆ ยังจะราบรื่นเหมือนเดิมรึเปล่าก็ไม่รู้ คงขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาของแต่ละคน แต่ขึ้นชื่อว่า Toyota จึงมั่นใจว่าใช้งานได้นานแน่นอน) สำหรับคนที่ชอบขับเร็วสมรรถนะความเร็วรถคันนี้อาจจะไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไหร่ แต่คิดว่าลูกค้ากลุ่มที่ซื้อรถประเภทนี้ไม่ได้มองเรื่องความเร็วเป็นเรื่องสำคัญอยู่แล้วแต่จะมองเรื่องของความประหยัดมากกว่า ซึ่งก็ถือว่า Altis 1.6E CNG ตอบโจทย์ข้อนี้ได้อย่างดีเยี่ยม โดยอัตราประหยัดสูงสุดที่เคยทราบคือเมื่อใช้แก็สจะประหยัด 23.23 กิโลเมตรต่อกิโลกรัม โดยราคา NGV อยู่ที่ประมาณ 10.50 บาทต่อกิโลกรัมในวันที่ 16 ตุลาคม 2557 นี้ เท่ากับว่าใช้เงินเพียง 10 บาท 50 สตางค์ ก็สามารถเดินทางได้ไกล 23.23 กิโลเมตร ซึ่งถ้าเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น ในอัตราประหยัดเชื้อเพลิงที่เท่ากัน จะใช้เงินน้อยกว่า 3 เท่า แต่จะจุกจิกกว่าด้านการดูแลบำรุงรักษา ก็ลองคิดคำนวณดูเองว่าแบบไหนจะคุ้มกว่า แต่โดยความเห็นส่วนตัวคิดว่าถ้าขับรถวันละไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตร รุ่น CNG จะคุ้มกว่า แต่ถ้าไม่ขับรถบ่อยและไม่ขับไกล คือขับไปกลับที่ทำงานไม่กี่กิโลเมตร จะใช้น้ำมันเบนซิน หรือ โซฮอลล์ 91,95 ก็แล้วแต่ รุ่นใช้เชื้อเพลิงระบบเดียว จะเป็นทางเลือกที่คุ้มกว่า
ช่วงล่างหรือระบบรองรับ
แน่นอนว่าตัวรถมีน้ำหนักมากขึ้นจึงต้องเสริมค่า K ของโช็คอัพให้แข็งขึ้น เพราะ ตัวรถมีน้ำหนักเพิ่มจากรุ่นปกติถึง 75 กิโลกรัม จึงทำให้อาจจะรู้สึกกระด้างไปบ้าง แต่ก็ยังจัดว่านุ่มนวลในแบบรถเก๋ง ไม่ได้กระด้างแบบรถบรรทุกหรือรถกระบะ ซึ่งความนุ่มของช่วงล่างถือว่าพอรับได้ถ้าเทียบกับรถสปอร์ตก็ยังถือว่านุ่มกว่า ถ้าเทียบกับรถซีดานด้วยกัน ก็ถือว่ากระด้างกว่านิดหน่อย การยึดเกาะถนนถือว่าทำได้ดีหากใช้ความเร็วไม่สูงมาก แต่อาจจะหวาดเสียวหน่อยถ้าความเร็วเกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งมันก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของรถซีดานทั่วไป ซึ่งก็ไม่ต้องคิดอะไรมากเพราะคนที่ซื้อรถรุ่นนี้คงไม่มีจุดประสงค์หลักที่การทำความเร็วไป 140-160 หรอก แต่ถ้าจะทำจริงๆ ระดับนี้ถือว่าสามารถทำได้เช่นกัน เพราะความเร็วแค่นี้สำหรับรถยุคปัจจุบันถือว่าธรรมดามาก และถ้าเข้าโค้งแบบสุดลิมิตจริงๆ จะสามารถทำได้ที่ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอย่างหวาดเสียวแบบโอกาสหลุดโค้ง 50:50 (ขึ้นอยู่กับลักษณะของโค้งด้วย) ซึ่งการทดลองในครั้งนี้เป็นความบังเอิญโดยไม่ตั้งใจ หากขับรถคันนี้ไม่ควรเข้าโค้งในความเร็วเกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะดีที่สุด
สรุป
เป็นรถที่เน้นความประหยัดมากกว่าเรื่องของสมรรถนะ ช่วงล่างมีความยึดเกาะถนนเพียงพอต่อการใช้งานในย่านความเร็วปกติ แต่ราคา 889,000 บาท กับเครื่องยนต์ความจุ 1.6 ลิตร ราคาแพงกว่า Honda Civic 1.8 i-VTEC S AT ที่มีราคา 835,000 บาท และยังพิกัดความจุมากกว่าที่ 1.8 ลิตร แรงม้ามากกว่าที่ 141 แรงม้า สำหรับผู้ที่ชอบความเร็วแล้วอาจทำให้หยุดคิดนานเลยทีเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น