Honda Jazz |
รูปทรงภายนอก
ยังมีความคล้ายคลึงกับรุ่นก่อนหน้านี้แบบพิมพ์เดียวกันเป๊ะ แต่เปลี่ยนกระจังหน้าให้ดูมาดสปอร์ตขึ้นเล็กน้อย ด้านท้ายรถมีความคล้ายคลึงกับ CRV มองผ่านๆ เหมือนจะเป็น CRV ย่อส่วน
ท้าย Honda Jazz |
ภายใน
เมื่อเข้ามาดูห้องโดยสารภายใน รถที่ภายนอกดูเล็กแต่ห้องโดยสารดูไม่เล็กอย่างที่คิด ภายในให้ความรู้สึกคล้าย Mini MPV ของค่ายอย่าง Honda Freed กับ Honda Mobilio โดยเฉพาะที่นั่งแถวหลังนี่ต้องบอกว่าออกแบบมาเอาใจผู้โดยสารจริงๆ ส่วนที่นั่งแถวหน้า และส่วนของคนขับก็ยังมีพื้นที่เหลือเฟือ สำหรับผู้ที่มีรูปร่างเล็กถึงปานกลาง แต่สำหรับคนที่สูงเกิน 180 เซนติเมตร และมีรูปร่างค่อนข้างหนา อาจจะรู้สึกอึดอัดหน่อย เบาะหลังสามารถพับแยกแบบ 60:40 ได้ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในรถถือว่าจัดมาเต็มที่เมื่อเทียบกับรถในพิกัดเดียวกัน ทั้งยังมีระบบความบันเทิงเป็นจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว รายละเอียดสูง HDMI
เครื่องยนต์
Honda Jazz ใช้เครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร แรงม้าสูงสุด 117 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 146 นิวตัน-เมตร ที่ 4,700 รอบต่อนาที เหมือนๆ กับ Honda City และยังสามารถรองรับน้ำมัน E85 แรงม้าลดลงจากรุ่นเดิม 3 แรงม้าแต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบมากมาย ความรู้สึกด้านอัตราเร่งยังรู้สึกเหมือน Jazz รุ่นเดิมอยู่ แต่กับการยึดติดแต่กับของเดิมๆ มันก็ออกจะน่าเบื่ออยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม Jazz คันนี้ก็ยังมีอัตราเร่งที่พอจะเรียกได้ว่าขับสนุกเป็นอันดับต้นๆ ของ Segment นี้ แต่เกียร์ CVT ของ Jazz รุ่นนี้ก็ยังถือว่าส่งกำลังได้ไม่เร้าใจเท่า Jazz รุ่นก่อน แต่จะได้ในเรื่องของความนิ่มนวลไม่กระชากกระชั้น สมรรถนะอัตราเร่งของ Jazz ยังถือว่าทำได้ดีพอสมควร โดย 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทำได้ 11.2 วินาที 0-140 ทำได้ 21.6 วินาที 0-160 ทำได้ 31.6 วินาที อัตราเร่งแซง 60-100 ทำได้ 6.3 วินาที 80-120 ทำได้ 8.2 วินาที ความเร็วสูงสุดบนมาตรวัดประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สมรรถนะแบบนี้ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว ด้านอัตราประหยัดน้ำมันหากขับความเร็วเฉลี่ย 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะประหยัดน้ำมัน 12.9 กิโลเมตรต่อลิตร และถ้าขับช้าลงไปก็จะมีอัตราประหยัดน้ำมันดังนี้ 100 กม./ชม. ประหยัด 17.1 กม./ลิตร, 80 กม./ชม. ประหยัด 21.9 กม./ลิตร และที่ 60 กม./ชม. จะประหยัด 26.5 กม./ลิตร ก็อย่าให้ต้องถึงขั้นขี้เหนียวขับ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไปตลอดเลย ขับความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนี่แหละกำลังพอดี
ช่วงล่างหรือระบบรองรับ
ด้านหน้าเป็นแบบแม็กเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังเป็นแบบทอร์ชั่นบีม ยังคงเน้นช่วงล่างที่นุ่มนวลนั่งสบายมากกว่าจะเน้นความหนึบและการทรงตัวอยู่เช่นเดิมและน่าเสียใจที่ต้องบอกว่าช่วงล่าง Jazz รุ่นปัจจุบันให้ความรู้สึกในการเกาะถนนที่แย่กว่ารุ่นก่อนหน้านี้ แต่ยังไงหากขับไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงยังถือว่าหนึบแน่นปลอดภัยหายห่วง ซึ่ง Honda Jazz ก็มีระบบช่วยเหลือ คือ ระบบควบคุมการทรงตัว Vehicle Stability Assist (VSA) ระบบช่วยออกตัวในทางลาดชัน Hill Start Assist (HSA) ระบบควบคุมความเร็ว Cruise Control ส่วนเบรค ABS ของ Honda Jazz ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพดีพอใช้ได้โดยมีระยะเบรกจาก 100-0 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่ 43.2 เมตร เท่ากับ Mitsubishi Lancer EX รุ่น 1.8 ลิตร และย่านความเร็ว 80-0 อยู่ที่ 27.9 เมตร ส่วน 60-0 ใช้ระยะ 16.1 เมตร และ Jazz SV+ รุ่นท็อปยังติดตั้งถุงลมนิรถัยมาให้ทั้งคู่หน้า ด้านข้าง และม่านถุงลมนิรภัย ซึ่งออปชั่นด้านความปลอดภัยถือว่า Honda จัดเต็มมาให้อยู่แล้ว
สรุป
ข้อดีของ Honda Jazz คันนี้คือ พื้นที่ห้องโดยสารจัดสรรได้อย่างลงตัว การใช้งานในเมืองทำได้อย่างคล่องแคล่ว รองรับน้ำมัน E85 จัดเต็มออปชั่นความปลอดภัย
ข้อเสียคือ ช่วงล่างยังไม่หนึบเท่าไหร่ อัตราเร่ง และความเร็วสูงสุด ก็แสนจะธรรมดา และสมรรถนะด้อยกว่า Ford Fiesta Ecoboost
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น