วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การตรวจเช็คสภาพรถ และการขับรถในช่วงฝนตก


หลายคนคงรู้สึกรำคาญที่ตื่นเช้าจะออกไปทำงานก็ดันมาเจอฝนตก ยิ่งมาเจอรถติดอีกก็ยิ่งรู้สึกเพลียใจเป็นอย่างยิ่ง แทนที่จะเดินทางไปทำงาน หรือไปเรียนหนังสือด้วยความแจ่มใสรับอรุณ กลับต้องมาหงุดหงิดเพราะฝนเป็นอุปสรรคทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความล่าช้าทุลักทุเล หรือถ้าถึงขั้นร้ายแรงก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทุกคนจึงควรหมั่นเตรียมความพร้อมทั้งรถ ทั้งคน ในยามจำเป็นที่จะต้องเดินทางในยามฝนตก เริ่มต้นจากการตรวจเช็คสภาพรถก่อนออกเดินทางว่าพร้อมใช้งานหรือเปล่า อย่างแรกที่เกี่ยวข้องกับความเป็นตายโดยตรงเลยคือยางรถยนต์ ควรดูความลึกของร่องดอกยางว่าร่องมีความลึกไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตรเป็นอย่างต่ำ สภาพยางไม่ควรมีเนื้อแข็ง หรือกรอบ แตกลายงา เติมลมยางแข็งกว่าปกติเล็กน้อยเพื่อช่วยในการรีดน้ำ ตรวจสอบระบบเบรกว่าหยุดได้ในระยะเท่าไหร่ เบรกแล้วมีอาการเป๋รึเปล่า ตรวจสอบใบปัดน้ำฝนน้ำฉีดกระจกรถว่าทำงานปกติดีหรือเปล่า ตรวจเช็คระบบไฟสัญญาณต่างๆ ทั้งไฟเลี้ยว ไฟเบรก ไฟฉุกเฉิน ไฟสูงไฟต่ำ ว่าทำงานปกติ หากสิ่งเหล่านี้เป็นปกติก็อุ่นใจไปอีกขั้น
การขับรถให้ปลอดภัยในช่วงฝนตก
เมื่อตรวจสอบสภาพรถพร้อมแล้ว คนขับก็ต้องมีความพร้อมในการขับด้วย โดยมีข้อปฏิบัติง่ายๆ คือ
1. ไม่ขับเร็ว เป็นข้อปฏิบัติง่ายๆ ที่ควรรู้ได้โดยสามัญสำนึกอยู่แล้ว แต่การไม่ขับเร็วนั้นก็ไม่ควรขับช้าจนเกินไปเพราะจะทำให้คันที่ตามมาเข้าใจผิดว่ารถจะจอดข้างทาง ทำให้เกิดการหักหลบซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
2.เปิดไฟหน้า หรือไฟตัดหมอก เพื่อให้รถคันอื่นมองเห็น เวลาฝนตกหนัก
3.ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉินในยามขับรถปกติ เพราะจะทำให้รถที่ตามมาเข้าใจผิดคิดว่ารถจอดเสียอยู่ อาจทำให้กะระยะผิดพลาดได้
4.ควรเปิดใบปัดน้ำฝน และฉีดน้ำเพื่อล้างน้ำฝนออก เพราะน้ำฝนอาจมีสิ่งสกปรกติดมาด้วยทำให้รบกวนทัศนะวิสัยในการมองเห็น
5.ขับรถเว้นระยะห่างมากกว่าตอนสภาพอากาศปกติพอสมควร จำระยะเบรกของรถเราให้ดีแล้วเผื่อระยะไว้สัก 15-20 เมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการเบรกที่รุนแรง ซึ่งจะทำให้รถเสียการทรงตัว หรือปัดได้
6.หลีกเลี่ยงการขับผ่านแอ่งน้ำที่มีนำ้ขังมากๆ เพราะเราไม่รู้ว่าใต้แอ่งน้ำนั้นมีหลุมหรือเปล่า
7.ไม่ใช้ Engine Break (การหน่วงรถด้วยเครื่องยนต์โดยการเปลี่ยนลงเกียร์ต่ำ) มากจนเกินความจำเป็น เพราะหากการหน่วงมากเกินไปจะทำให้รถเสียการทรงตัว แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ให้ทำอย่างนิ่มนวล โดยค่อยๆ ลดความเร็วลง และเปลี่ยนเกียร์ให้สัมพันธ์กับรอบเครื่องสำหรับเกียร์ธรรมดา สำหรับเกียร์ออโต้ให้ลดความเร็วให้รอบเครื่องต่ำกว่า 2,000 รอบต่อนาที (อาจไม่เหมือนกันแล้วแต่รุ่นของรถ) แล้วเปลี่ยนเกียร์จากตำแหน่ง D ไป L
8.ถ้าฝนตกหนักมากควรจอดรถแล้วเปิดไฟฉุกเฉินรอให้ฝนเบาบางลงหรือหยุดตกค่อยเดินทางต่อ
9.หากใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ พาร์ทไทม์ ให้เปลี่ยนตำแหน่งระบบขับเคลื่อนไปที่ 4H ใช้ในการขับรถบนซุปเปอร์ไฮเวย์ที่เปียกชื้น หรือถนนลูกรังที่มีความเรียบ และสามารถใช้ความเร็วได้ ขณะที่ฝนตกระบบขับเคลื่อน 4 ล้อจะช่วยให้รถเกาะถนนมากขึ้น
จะเห็นว่าการขับรถบนถนนเปียกนั้นจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น พิษสงของถนนเปียกนั้นทำให้นักขับมือเซียนทำพลาดมาแล้วหลายราย แต่หากขับด้วยความไม่ประมาท ก็จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้อย่างมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น